‘Green2Get’ เชื่อมคน…สร้างแพลตฟอร์มจัดการขยะ
“Green2Get เป็นแพลตฟอร์มเศรษฐกิจหมุนเวียน ที่สามารถเชื่อมโยงผู้ผลิต ผู้บริโภค และผู้นำกลับมาใช้ใหม่ หรือผู้รีไซเคิล” โดย นายเปรม พฤกษ์ทยานนท์ ผู้ประกอบการธุรกิจรีไซเคิล และเจ้าของเพจ “ลุงซาเล้งกับขยะที่หายไป” หัวหน้าโครงการวิจัย “กรีนทูเก็ต: แพลตฟอร์มของระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน” ซึ่งเป็นงานวิจัยที่เกิดจากการผลักดันและสนับสนุนทุนวิจัยโดยแผนงานเศรษฐกิจหมุนเวียน หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) กองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กองทุนส่งเสริม ววน.)
นายเปรม กล่าวว่า การสร้างแพลตฟอร์มของระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน ที่เรียกว่า ‘Green2Get’ เป็นอีกหนึ่งแนวทางการแก้ปัญหาเรื่องการจัดการทรัพยากรและขยะได้ นอกจากเชื่อมโยงแล้วยังรองรับกลุ่มเป้าหมาย คือ 1.ผู้ผลิต เจ้าของสินค้าทุกประเภทที่ผลิตขึ้นมาเพื่อซื้อขายกันและเกิดเป็นขยะ 2.ผู้บริโภค ประชาชนทั่วไปที่ซื้อสินค้าเพื่ออุปโภค บริโภคและเกิดเป็นขยะ และ 3.ผู้รีไซเคิล ทั้งรายใหญ่และรายย่อย ทั้ง 3 กลุ่มจะเข้ามาอยู่ในแพลตฟอร์มเดียวกัน ที่มีทั้งแอปพลิเคชัน Green2Get และเว็บแอปพลิเคชันที่ชื่อ hero.Green2Get.com ซึ่งภายในแพลตฟอร์มจะมี ข้อมูลของผู้รับรีไซเคิล ที่บอกตำแหน่ง และประเภทขยะที่ต้องการ โดยข้อมูลเหล่านี้มาจากทีมงานโครงการติดต่อกับผู้รีไซเคิลโดยตรงเพื่อรับสมัครและรวบรวมข้อมูลที่ได้มาแสดงผลในแอปพลิเคชัน และเปิดให้ผู้บริโภค หรือประชาชนทั่วไปดาวน์โหลดเพื่อใช้งาน
เมื่อเปิดใช้งานแอปพลิเคชัน หรือเว็บแอปพลิเคชัน ผู้บริโภคจะเห็นทันทีว่า ภายในแพลตฟอร์มประกอบไปด้วย 1. ช่องค้นหาวัสดุรีไซเคิล สินค้า และบาร์โค้ด ให้ผู้บริโภคสามารถสแกนขยะของตนเองเพื่อคัดแยกได้ 2. ฐานข้อมูลวัสดุรีไซเคิล มีขยะหลากหลายประเภทที่ผู้รับรีไซเคิลรับซื้อ 3. แนะนำจุดรับและผู้รับ วัสดุรีไซเคิล จะมีให้สแกนบาร์โค้ดเพื่อรับคำแนะนำการคัดแยกขยะ รวมถึงการคัดแยกที่ผู้บริโภคสามารถเพิ่มข้อมูลเองได้
นอกจากนี้ ยังมีระบบ Social Verification ให้ผู้บริโภคที่ใช้แพลตฟอร์มนี้ ร่วมกันตรวจสอบวิธีการแยกขยะด้วย เมื่อมีข้อมูลของผู้บริโภคแล้ว ทางทีมวิจัยจะติดต่อไปยังผู้ผลิตเพื่อให้เข้ามามีส่วนร่วมในการสนับสนุนการคัดแยกขยะให้ขยายเป็นวงกว้างมากขึ้น “เราต้องการให้ผู้ผลิตเข้ามามีส่วนร่วมและส่วนรับผิดชอบในสินค้าของตนเอง การส่งเสริมและอุดหนุนให้เกิดการคัดแยกขยะและรีไซเคิลเพื่อสร้างแรงจูงใจให้ผู้บริโภคหันมาคัดแยกขยะมากขึ้น ส่งต่อไปยังผู้รับรีไซเคิลในระบบตรวจสอบว่ามีการซื้อขายจริง ระบบจะแสดงให้เห็นว่าขยะที่เกิดจากผู้ผลิตผ่านมือผู้บริโภคและไปถึงระบบรีไซเคิลได้ครบวงจร”
แม้ว่าการทำงานวิจัยยังคงอยู่ในขั้นตอนการดำเนินงาน ภาพการคัดแยกขยะตั้งแต่ต้นจนจบยังไม่เกิดขึ้น แต่ทางทีมวิจัยได้ตั้งเป้าหมายงานวิจัยออกเป็น 3 ส่วน คือ 1.มีผู้รับรีไซเคิลในระบบ 1,000 ราย ปัจจุบันมีประมาณ 700 ราย กระจายอยู่ทั่วประเทศ 2.มีผู้บริโภคในระบบ 10,000 ราย ปััจจุบันมี 11,000 ราย รวมถึง 3. ตั้งเป้าขยะที่เป็นสินค้ามีบาร์โค้ดไว้ที่ 10,000 ชิ้น ปัจจุบันมีขยะในระบบ 12,000 ชิ้น และมีแนวโน้มที่ดีเพิ่มมากขึ้น ส่วนผู้ผลิตยังอยู่ในขั้นตอนการประสานงาน และสามารถเข้าร่วมแพลตฟอร์มได้ในช่วงเดือนพฤศจิกายน
อย่างไรก็ตาม หัวหน้าโครงการกล่าวว่า ทีมวิจัยกำลังปรับปรุงเครื่องมือ เพื่อให้การส่งต่อวัสดุรีไซเคิลสะดวกและตรงเป้าหมายมากขึ้น โดยจะให้มีตลาดเกิดขึ้นในแพลตฟอร์ม เมื่อผู้บริโภคลงข้อมูลขยะที่จะขายลงไปในถัง ระบบจะแจ้งเตือนผู้รับรีไซเคิลขยะประเภทดังกล่าวทันที ผู้ใช้งานทั้งสองกลุ่มก็สามารถติดต่อกันได้ง่ายขึ้น ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเป้าหมายของแพลตฟอร์มที่เราต้องการให้ผู้ใช้งานอยู่ได้ด้วยตัวเอง
“แพลตฟอร์มนี้เกิดประโยชน์กับคนทุกกลุ่ม แต่เราต้องการให้เกิดประโยชน์กับ ‘ผู้บริโภค’ มากที่สุด เนื่องจากผู้บริโภคเป็นพลังสำคัญที่จูงใจทั้งผู้ผลิตและผู้รีไซเคิล ถ้าเขาคัดแยกขยะได้มาก ขยะก็จะไปถึงธุรกิจรีไซเคิลได้มากเช่นกัน รองลงมาคือ ผู้รับรีไซเคิล เราต้องการให้เขามีตัวตนในระบบมากขึ้น เพื่อเพิ่มรายได้ของผู้รับรีไซเคิล ขยะบางประเภทในอดีตไม่สามารถรีไซเคิลได้ เพราะผู้รับรีไซเคิลเข้าไม่ถึงแหล่ง ถ้าเราใช้ระบบนี้รวบรวมขยะ และชี้ตำแหน่งให้เขาไปรับได้ ก็จะสร้างรายได้ให้เขามากขึ้น ส่วนผู้ผลิตเอง ก็จะได้ข้อมูลเกี่ยวกับการรีไซเคิลสินค้าที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาบรรจุภัณฑ์ของตนเองได้ต่อไป”
นายเปรม พฤกษ์ทยานนท์ หัวหน้าโครงการ กรีนทูเก็ต: แพลตฟอร์มของระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน
นายเปรม กล่าวเพิ่มเติมว่า ตอนนี้กำลังทำเว็บไซต์แผนที่ขยะทั่วประเทศ ซึ่งยังอยู่ในขั้นตอนทดลองระบบการใช้งาน ในอนาคตเว็บไซต์นี้จะแสดงความหนาแน่นของประเภทขยะและการรีไซเคิลที่กระจายอยู่ทั่วประเทศ โดยข้อมูลเหล่านี้จะแสดงให้เห็นปัญหาการไม่คัดแยกขยะและการจัดการขยะในพื้นที่ ทางด้านผู้รีไซเคิลหรือผู้ผลิตสามารถนำข้อมูลเหล่านี้ไปพัฒนาและต่อยอดเพื่อเกิดกระบวนการรีไซเคิลขยะได้
“เราหวังว่าแพลตฟอร์มนี้จะช่วยให้เกิดการคัดแยกขยะ และเกิดการรีไซเคิลขยะ หรือขยะประเภทใดประหนึ่งเพิ่มมากขึ้น ถึงแม้เราจะคาดหวังให้เพิ่มขึ้นเพียง 1-2 เปอร์เซ็นต์ ก็นับว่าเป็นปริมาณหลายแสนตันแล้ว อีกทั้งมูลค่าของธุรกิจรีไซเคิลในปัจจุบันของไทยที่มีมากกว่า 4 แสนล้านบาทต่อปี หากคิดเป็นมูลค่าก็ประมาณ 10,000 ล้านบาท และปริมาณขยะที่ต้องจัดการปลายทางจะลดลง 2-4 แสนตันต่อปี เมื่อการคัดแยกขยะที่มีประสิทธิภาพ การซื้อขายขยะในระบบและภายในประเทศมีเพียงพอ งบประมาณการนำเข้าขยะจากต่างประเทศก็ลดลง และยังช่วยแก้ปัญหาปริมาณขยะที่เพิ่มสูงขึ้นในประเทศได้อย่างยั่งยืน”
วันที่ : 9 พฤศจิกายน 2564 ข้อมูลโดย : หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.)
เครดิต : หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.)