Green2Get แอปสายกรีนของ ‘เปรม พฤกษ์ทยานนท์’ เนิร์ดผู้หมกมุ่นเรื่อง (แยก) ขยะ

เปรม พฤกษ์ทยานนท์ หนุ่มเนิร์ดที่ยก ‘ขยะ’ ให้เป็นเรื่องใหญ่ในชีวิต ชาว Introvert ที่พร้อมจะเปิดประตูช่วยแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม ด้วยแอป Green2Get

ในขณะที่หลายคนปฏิเสธภารกิจแยกขยะด้วยชุดความคิดที่ว่า “จะแยกขยะทำไม ในเมื่อสุดท้ายก็เทรวมกัน” ประเด็นนี้ทำให้เราอยากชวนไปคุยกับผู้ชายคนหนึ่ง เขาเติบโตมาในครอบครัวที่ทำธุรกิจรับซื้อของเก่า เขาเคยคาดหวังว่าเหตุผลของการแยกขยะจะมีน้ำหนักมากพอให้คนอื่นหันมาช่วยกัน จนถึงวันที่เขาต้องยอมรับความจริงว่า เขาไม่อาจโน้มน้าวใจใครได้แม้แต่คนใกล้ตัว ทว่า เขายังยืนหยัดมั่นคงในความเชื่อของตัวเอง และไม่ปล่อยให้ตัวเองหมดใจไปกับความผิดหวังที่เกิดขึ้น

เขาคือ เปรม พฤกษ์ทยานนท์ ประธานบริษัท กรีนทูเก็ต จำกัด และผู้ก่อตั้งเพจ ลุงซาเล้งกับขยะที่หายไป กับเรื่องราวชีวิตที่ดูเหมือนว่า ขยะจะไม่เคยหายไปจากชีวิตเขาเลย

“ผมไม่ได้เห็นขยะเป็นขยะ แต่มองเป็นวัสดุ ผมรู้ว่าวัสดุอะไรมีมูลค่า เวลาเห็นคนทิ้งขว้างจะรู้สึกเจ็บปวด”

LIPS: ทำไมครอบครัวถึงมาทำธุรกิจรับซื้อของเก่าได้

เปรม: พ่อผมเป็นคนสงขลา ครอบครัวทำสวนยางอยู่ ความที่เป็นลูกชายคนโตเลยมองหาธุรกิจใหม่เพื่อหารายได้มาเลี้ยงดูน้องๆ จับพลัดจับผลูได้ย้ายมาอยู่เชียงใหม่ มาเจอร้านรับซื้อของเก่า คิดว่าเป็นธุรกิจที่น่าจะพอทำได้และใช้ต้นทุนไม่เยอะ เลยขอเข้าไปเรียนรู้งาน แล้วก็กลายเป็นธุรกิจครอบครัวมาตลอด

ส่วนผมเฉยๆ กับธุรกิจนี้ พอเรียนจบด้านวิศวะคอมพ์จากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ไปทำงานเป็นวิศวกรบริษัทที่กรุงเทพฯ อยู่หลายปี ระหว่างนั้นผมเรียน MBA ที่ธรรมศาสตร์ไปด้วย ก่อนหน้านี้พี่สาวคนโตได้เข้ามาช่วยธุรกิจที่บ้านก่อนแล้ว พอจบโทผมเลยคิดว่าถึงเวลาที่ผมในฐานะลูกชายคนโตควรต้องกลับมาช่วยงานที่บ้าน ก็พยายามหาแรงจูงใจในการกลับบ้านให้ตัวเอง เพราะเราไม่ได้อินกับธุรกิจรับซื้อของเก่าเลย

พอดีว่าตอนนั้นมีกระแสภาพยนตร์สารคดีเรื่อง An Inconvenient Truth ที่พูดถึงวิกฤตโลกร้อน ผมดูแล้วอินมาก เลยคิดว่าธุรกิจรับซื้อของเก่าของที่บ้านเรา ก็มีส่วนช่วยโลกได้นะ ทำให้รู้สึกมีแรงพลังอยากกลับบ้านขึ้นมา

LIPS: ความจริงของธุรกิจนี้ที่คนนอกไม่รู้คืออะไร

เปรม: การรับซื้อของเก่าดูเหมือนเป็นธุรกิจง่ายๆ ซื้อมาขายไป แต่จริงๆ แล้วมีดีเทลอยู่ไม่น้อย ตัวธุรกิจเป็นเหมือน commodities (สินค้าโภคภัณฑ์ คือ ผลิตภัณฑ์หรือวัตถุดิบที่ถูกนำไปใช้เป็นส่วนประกอบของการผลิต) มองเผินๆ อาจคิดว่าเราเป็นเหมือนโรงสี แต่เราไม่ได้รับซื้อแค่ข้าวจากชาวนา เราซื้อขยะจากชาวบ้าน ซึ่งมีหลากหลายประเภท เอาแค่เหล็กก็ต้องดูว่าข้างในมีไส้ปูนไหม เป็นสนิมเยอะหรือเปล่า เป็นเหล็กจริงไหม และความที่เป็น commodities ราคาเลยถูกกำหนดไว้แล้ว ไม่สามารถเพิ่มการตลาดได้ ทำให้กำไรมันบาง ฉะนั้น ความเสี่ยงของการขาดทุนจึงง่ายด้วย

ผมเห็นพ่อแม่ทำงานหนักมากมาตลอด เพราะเป็นธุรกิจที่เจ้าของต้องทำเองเป็นหลักทุกขั้นตอน เพราะของเก่าเป็นสิ่งละเอียดอ่อนมาก ถ้าเจ้าของไม่มาดูแลเอง ไม่จดตาชั่งเอง ไม่นับเงินเอง ไม่แยกประเภทเอง จะเสียหายเยอะ ยกตัวอย่าง มีลูกค้าขนกระดาษใส่รถมาขาย ถ้าเราไม่ดูเอง ไม่ละเอียดพอ อาจเจอลูกค้าหัวใสรู้ว่าซื้อขายกันตามน้ำหนัก ก็เอากระดาษไปชุบน้ำชุบปูนบางๆ แล้วสอดไส้ไว้กลางๆ กอง เพราะชั่งรวมยกกอง แล้วกระดาษเราไม่ได้ขายต่อได้กำไรโลละ 5 บาท 10 บาทนะครับ ได้กำไรโลละ 10 สตางค์ เจอลูกค้าแบบนี้ ก็ขาดทุนแน่นอน

“คนที่ทำธุรกิจรับซื้อของเก่าใช้แค่ตาชั่งสปริง 60 กิโล ซึ่งเป็นอุปกรณ์เพียงอย่างเดียวของธุรกิจนี้ เลยไม่ค่อยได้ใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาช่วย”

LIPS: อะไรเป็นข้อดีของธุรกิจนี้ที่ทำให้ครอบครัวเรายังทำต่อเนื่องมานานกว่า 50 ปี

เปรม: จุดเด่นคือเป็นสินค้าที่มีดีมานด์เสมอ มีเท่าไรขายได้หมด มีเหล็กพันตันก็ขายได้พันตัน ตลาดรับซื้อเสมอ เพราะเป็น commodities เราแค่หาของมาให้ได้ ก็ได้กำไรแล้ว นี่คือความง่ายของมัน ไม่ต้องทำการตลาดเลย เพราะมีคนรอรับซื้ออยู่แล้ว

ธุรกิจรีไซเคิลจะมีตั้งแต่ซาเล้ง ร้านค้าปลีก ร้านค้าส่ง และโรงงานรีไซเคิล ที่บ้านผมจะอยู่กลุ่มร้านค้าส่ง จะมีลูกค้าเป็นร้านค้าปลีก ผมก็ต้องไปตามหาร้านของเก่า ส่วนโรงงานก็จะมาตามหาผม เป็นทอดๆ กันไป แต่ปัจจุบันที่บ้านผมไซส์ค่อนข้างใหญ่ คนซื้อจะเป็นฝ่ายมาหาเราเอง นี่คือความง่ายของธุรกิจนี้

LIPS: เมื่อธุรกิจครอบครัวมาถึงรุ่นเรา บริหารจัดการอย่างไร

เปรม: ผมจบโท MBA บริหารธุรกิจมา ตั้งใจจะกลับมาจัดระบบธุรกิจที่บ้าน เพราะไม่อยากให้ทุกคนต้องเหนื่อยเหมือนที่ผ่านมา เล่าให้เห็นภาพว่า หน้าที่ผมตั้งแต่เช้าจรดเย็นคือนั่งรอชั่งของให้ลูกค้า แล้วจ่ายเงินประมาณ 100 บิล ต้องชั่งของประมาณ 200 รอบ แล้วก็ต้องคอยสั่งคนงานทำโน่นทำนี่เยอะมากเลย มันเหนื่อยมาก เป็นอย่างนี้สัปดาห์ละ 6 วัน ผมเลยอยากเซ็ตให้เป็นระบบว่า คนนี้เข้ามา เจอส่วนนี้ แล้วก็เอาคนไปใส่ว่าใครรับผิดชอบดูแลและทำหน้าที่อะไรในจุดนั้น แต่มันเปลี่ยนไม่ได้เลย เพราะไม่ได้รับความร่วมมือ

ส่วนหนึ่งเกิดจากความต่างของเจเนอเรชั่นด้วย เขาคิดว่าที่เป็นอยู่มันดีอยู่แล้ว จะเปลี่ยนทำไม ผมมองว่าเป็นธรรมชาติของคนเราที่ย่อมกลัวการเปลี่ยนแปลง ถึงจะเข้าใจแต่ผมหงุดหงิดมากนะ มันไม่เหมือนที่คิดไว้ ก็เริ่มเครียด รู้สึกว่าคิดผิดที่กลับมาช่วยงานที่บ้าน ทั้งที่ผมสนุกอยู่นะ เพราะยังมีแพสชั่นเหมือนเดิมว่าธุรกิจเรามีส่วนช่วยดูแลโลกได้ แต่การเปลี่ยนแปลงอะไรไม่ได้เลย ทำให้ผมอึดอัดว่าถ้าเป็นแบบนี้ เราก็จะเป็นเหมือนเดิมไปตลอด

LIPS: คุณจัดการปัญหานี้อย่างไร

เปรม: ธุรกิจรับซื้อของเก่ามัน old-school มากๆ สังเกตได้ว่าคนที่ทำธุรกิจนี้ก็ยังใช้ตาชั่งสปริง 60 กิโล ซึ่งเป็นอุปกรณ์เพียงอย่างเดียวของธุรกิจนี้ เลยไม่ค่อยได้ใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาช่วย ถ้ามีก็เป็นเครื่องแต่ก็ไม่ได้ใช้เทคโนโลยีชั้นสูง อาจเพราะในต่างประเทศไม่ค่อยมีธุรกิจรับซื้อของเก่าแบบบ้านเรา แต่จะเป็นธุรกิจคัดแยกขยะมากกว่า อย่างที่อเมริกา ขยะจะรวมอยู่ที่ศูนย์ แล้วมีสายพานที่ใช้ AI คัดแยกขยะ แต่บ้านเราเป็นธุรกิจซื้อมาขายไปเลยไม่ค่อยมีการใช้เทคโนโลยี แต่ผมจบวิศวะคอมพ์มา ส่วนตัวคิดว่ามันต้องดิสรัปได้สิ เลยเป็นที่มาในการออกมาทำแอปพลิเคชันหนึ่ง

LIPS: เล่าให้ฟังหน่อย

เปรม: มาถึงจุดหนึ่ง ผมทำงานที่บ้านมาสัก 8-9 ปี ก็รู้สึกว่าไม่ไหวแล้ว เริ่มปล่อยเกียร์ว่างละ เลยหาอะไรทำเป็นของตัวเอง ตอนนั้น Grab เริ่มเข้ามาใหม่ๆ เลยเริ่มคิดว่าธุรกิจเราก็น่าจะดิสรัปต์ด้วยเทคโนโลยีได้ เลยคิดว่าน่าจะมีธุรกิจที่คล้ายๆ ‘Grab ซาเล้ง’ เพื่อให้คนที่อยากขายของเรียกใช้บริการได้ ผมชวนเพื่อนที่เรียนจบคอมพ์มาช่วยเขียนโปรแกรมให้ ใช้ชื่อแอปฯ ว่า ‘Green2Get’ ทำได้สัก 2 ปีก็ไม่ได้ทำต่อ เพราะไม่ประสบความสำเร็จ ที่สำคัญเราทุนหมด ส่วนเพื่อนเขาไม่อิน ไม่มีแพสชั่นด้านนี้ พอเงินหมด เขาก็ไปเลย ตอนนั้นก็เศร้าเพราะหมดเงินไปล้านกว่า ครึ่งหนึ่งเป็นเงินเก็บของผม ต้องเข้าใจว่าตอนนั้นกระแสเรื่องสิ่งแวดล้อมยังไม่บูมเหมือนปัจจุบัน ผมมีแพสชั่นว่าอยากเปลี่ยนแปลงอะไรบางอย่าง และอยากพิสูจน์ว่าเรื่องนี้มีคนสนใจจริงๆ นะ

LIPS: ทำยังไงกับชีวิตช่วงนั้น

เปรม: ลึกๆ ผมยังเชื่อว่า ประเทศนี้ต้องมีคนสนใจเรื่องแยกขยะบ้างสิ เลยหันไปทำ เพจลุงซาเล้งกับขยะที่หายไป เพราะทำคนเดียวได้ ก็ลองทำดูว่าจะมีคนสนใจไหม ผมตั้งเป้ากับตัวเองว่า จะลองทำดูสักปีนึง ถ้าไม่มีใครสนใจเลย ก็แค่จบ ผมทำเพจลุงซาเล้งกับขยะที่หายไปได้สัก 6-7 เดือน ก็เกิด ‘กระแสเกรต้า’ (เกรตา ธันเบิร์ก หญิงสาวชาวสวีเดนที่กล่าวสุนทรพจน์ปลุกกระแสให้ทั่วโลกฉุกคิดถึงวิกฤตสิ่งแวดล้อม) พุ่งเป้ามา เลยทำให้เพจผมพอมีรายได้เข้ามา ผมตั้งใจเก็บเงินส่วนนี้เพื่อกลับมาปลุกผีสตาร์ตอัพ พัฒนาแอปพลิเคชันที่ค้างอยู่ขึ้นมาใหม่

“ตอนนี้ไม่มีใครมีปัญหาเรื่องขยะ ยกเว้นถ้าคนเก็บขยะไม่มาเก็บ แต่เรื่องถ้าขยะไม่มีใครนำไปรีไซเคิล ไม่ถูกนำไปหมุนเวียน ไม่มีใครเดือดร้อนกับปัญหานี้”

LIPS: เห็นว่าการทำเพจลุงซาเล้งฯ ทำให้พบจุดอ่อนของแพลตฟอร์ม ‘Green2Get’

เปรม: ผมต้องเสิร์ชหาข้อมูลก่อนเพื่อนำมาเขียนโพสต์ลงเพจ ทำให้ได้รู้ความต้องการของคนเก็บขยะ หรือคนแยกขยะ เลยรู้ว่า Grab ซาเล้งที่เราทำมันไม่ตอบโจทย์ เพราะ

1. ขยะไม่ได้มีมูลค่ามากพอที่จะตามคนมาซื้อ ในขณะที่ซาเล้งเองก็ทำมาหากินลำบากอยู่แล้ว อาจจะเกิดความคิดว่า ทำไมถูกเรียกให้ไปบริการถึงที่ แล้วยังต้องจ่ายตังค์ให้คนเรียกอีก ถือว่าไม่ตอบโจทย์ละ เพราะซาเล้งจะไม่ยอมทำอยู่แล้ว

2. ไม่ได้แก้ปัญหาที่แท้จริง เพราะปัญหาขยะไม่ได้อยู่ที่การแยก แต่อยู่ที่ผู้ผลิต ผมทำเพจเลยรู้ว่าการแก้ปัญหาจริงๆ คือที่เรียกว่าเศรษฐกิจหมุนเวียน หรือ Circular Economy (คือ แนวคิดที่สนับสนุนให้ใช้สิ่งของหรือทรัพยากรที่มีอยู่ให้คุ้มค่าที่สุด) ที่มีการรณรงค์กันอยู่ แนวคิดนี้ไม่ใช่เรื่องของคนแยกหรือคนรีไซเคิล แต่เป็นเรื่องตั้งแต่คนผลิตหรือเจ้าของสินค้า คนแยก และคนรีไซเคิล

ผมเลยคิดว่าเป็นคน 3 กลุ่มนี้แหละที่ต้องรับผิดชอบเรื่องนี้ ทีนี้จะนำเทคโนโลยีอะไรมาแมตช์พวกเขาให้เกิด Circular Economy ได้ล่ะ เลยเปลี่ยนแนวคิดจาก Grab ซาเล้งมาเป็น Circular Economy Platform เปลี่ยนแนวทั้งหมด ต้องบอกว่าช่วงแรกที่ผมเริ่มทำสตาร์ตอัพใช้เงินตัวเองเป็นหลัก เพราะไปขอทุนหลายที่ก็ตกรอบตลอดด้วยเหตุผลว่า สิ่งที่ผมคิดมันไม่ทำเงิน แต่พอเพจลุงซาเล้งฯ เป็นที่รู้จักมากขึ้น หน่วยงานรัฐก็มาให้งบมาทำ ผมนำเงินส่วนนี้กับรายได้จากเพจมาทำ Circular Economy Platform แต่ยังใช้ชื่อเดิมว่า ‘Green2Get’ เป็นแพลตฟอร์มของเศรษฐกิจหมุนเวียนที่คุณมีส่วนร่วมได้ (Download Green2Get Application)

LIPS: ผลครั้งนี้เป็นอย่างไรบ้าง

เปรม: ยากกว่าเดิมเยอะเลย เพราะเดิมเป็นแค่คนแยกขยะกับคนรับซื้อขยะ แต่พอเป็นแพลตฟอร์มของ Circular Economy ให้คิดง่ายๆ ว่า เหมือนแพลตฟอร์มการซื้อขายของออนไลน์ที่มีคนนำสินค้ามาลงขาย แล้วก็มีคนมาซื้อ แล้วเราเป็นคนกลาง แต่ Circular Economy Platform มีทั้งผู้ผลิต ผู้บริโภค และคนรีไซเคิลด้วย เราต้องการให้คน 3 คนมาอยู่ร่วมกันแล้วแก้ปัญหาให้ ซึ่งแต่ละคนมีปัญหาไม่เหมือนกัน

อย่างเจ้าของสินค้าก็อยากจะดูดีในสายตาผู้บริโภค อยากเป็นสินค้าสายกรีน เราก็จะมาช่วยว่า สิ่งของที่เขาผลิตสามารถนำไปรีไซเคิลได้จริงๆ นี่คือสิ่งที่เขาอยากได้ ส่วนผู้บริโภคก็มีปัญหาว่าแยกไม่เป็น แยกแล้วไม่รู้จะเอาไปไหน และไม่มีแรงบันดาลใจในการแยก ส่วนคนรีไซเคิลก็อยากได้กำไรเยอะๆ เราต้องแก้ปัญหาให้ทุกคน ซึ่งมันยากมากเลย ผมก็ค่อยๆ ทำ เพราะงบที่ได้มาก็ไม่ได้เยอะมาก

LIPS: แก้ปัญหาให้คน 3 กลุ่มนั้นอย่างไร

เปรม: ยากมาก แต่ที่สำคัญกว่านั้นคือ ผมยังถามตัวเองทุกวันถึงทุกวันนี้ว่าเขาอยากได้จริงๆ เหรอ เพราะสิ่งที่ผมทำไม่ได้ทำให้ใครสบายขึ้น อย่าลืมว่า ตามธรรมชาติสิ่งที่สร้างขึ้นควรมาแก้ pain point อะไรบางอย่างของคนเรา เช่น แอปสั่งอาหารเพราะคนขี้เกียจออกไปตากแดดต่อคิวซื้อ แต่สิ่งที่ผมทำมี pain point หรือเปล่า พูดได้ว่าตอนนี้ไม่มีใครมีปัญหาเรื่องขยะ ยกเว้นถ้าคนเก็บขยะไม่มาเก็บ แต่เรื่องถ้าขยะไม่มีใครนำไปรีไซเคิล ไม่ถูกนำไปหมุนเวียน ไม่มีใครเดือดร้อนกับปัญหานี้

ผมเข้าใจประเด็นนี้ แต่ก็เถียงกับตัวเองว่า แต่เราก็ควรต้องทำไม่ใช่เหรอ อย่างเดียวที่จะทำให้สิ่งนี้เป็น pain point คือเมื่อมีกฎหมายมาช่วย แอปของเราจะตอบโจทย์มาก เช่น ถ้าผู้ผลิตถูกกฎหมายบังคับให้ต้องรับผิดชอบผลิตภัณฑ์ของตัวเอง เรามีโซลูชั่นให้คุณ ส่วนผู้บริโภค สมมติว่าถ้าค่าขยะไม่ใช่เดือนละ 20 บาทแล้ว แต่กลายเป็นเดือนละ 3 พัน คนก็จะเริ่มอยากรีไซเคิล สรุปคือคงต้องรอให้บ้านเรามีกฎหมายบังคับประมาณนั้น

“‘ขยะ’ เป็นความเชื่อของคนที่มองว่า สิ่งนั้นมันหมดคุณค่า ไม่มีประโยชน์แล้ว จึงทิ้งได้โดยไม่รู้สึกอะไร”

LIPS: ขอคำแนะนำลุงซาเล้งในการแยกขยะหน่อย

เปรม: หนึ่ง หาคนรับซื้อก่อน สำรวจดูว่าใกล้บ้านเรามีที่ไหนรับซื้อขยะอะไรบ้าง มีซาเล้งจอดอยู่ตรงไหน มีร้านรับซื้อบ้างหรือเปล่า เพราะเมื่อแยกได้แล้วจะได้มีที่ไปต่อ คนส่วนใหญ่เริ่มต้นด้วยการแยกเลย แล้วพอหาคนรับไม่ได้ ก็เสียกำลังใจ สุดท้ายแยกแล้วก็ต้องทิ้งกับรถเก็บขยะ พอเห็นเขาเทรวมกัน ก็เข้าสู่ประโยคคลาสสิกว่า แยกแล้วก็เอาไปรวมกัน ซึ่งแอปฯ ที่ผมทำจะตอบโจทย์ข้อนี้ว่าที่ ไหนมีใครรับซื้ออะไรบ้าง อยู่ห่างจากคุณกี่กิโลเมตร

สอง ให้เริ่มต้นด้วยการแยกของอย่างเดียวพอ เช่น ถ้าเราตั้งใจจะเก็บขวดน้ำ ก็ตั้งปณิธานไว้กับตัวเองเลยว่า ขวดน้ำทุกใบที่ผ่านมือเรา เราจะเก็บไว้ อย่าเริ่มด้วยการเก็บทุกอย่าง อย่างอื่นที่ไม่ได้คิดจะเก็บก็ทิ้งไปก่อน แล้วพอเราไม่เห็นว่าสิ่งนั้นเป็นขยะ แล้วยิ่งถ้าหาที่ส่งต่อได้ เราจะมีกำลังใจมากขึ้น

สาม ให้สัญญากับตัวเองว่าจะเลิกเรียกมันว่า ‘ขยะ’

LIPS: การเลิกมองว่าเป็นขยะ ช่วยอะไรยังไง

เปรม: ‘ขยะ’ เป็นความเชื่อของคนที่มองว่า สิ่งนั้นมันหมดคุณค่า ไม่มีประโยชน์แล้ว จึงทิ้งได้โดยไม่รู้สึกอะไร เหตุผลที่ผมสนใจการแยกขยะ เพราะผมอยู่กับของเหล่านี้มาตั้งแต่เด็ก ผมไม่ได้เห็นเป็นขยะ แต่มองเป็นวัสดุ ผมรู้ว่าวัสดุอะไรมีมูลค่า เวลาเห็นคนทิ้งขว้างจะรู้สึกเจ็บปวด อย่างถุงพลาสติก ถุงหูหิ้ว คนใช้เปลือง เพราะราคาถูก

ผมไม่ได้รังเกียจพลาสติก เพราะจริงๆ เป็นนวัตกรรมที่มีประโยชน์มาก ถ้าไม่มีพลาสติก จะไม่เกิดคอมพิวเตอร์ ไม่มียานอวกาศ และชีวิตเราคงไม่สะดวก แต่มนุษย์เราใช้พลาสติกไม่คุ้มกับอายุการใช้งานของมัน ถ้าเรานำมาใช้หมุนเวียนให้มากขึ้น ใช้เท่าที่จำเป็น หรือเปลี่ยนจากการทิ้งง่ายๆ มาเก็บแล้วนำไปขาย ซึ่งราคารับซื้อแพงมากเลยนะ ถ้าเทียบในหมู่พลาสติกด้วยกัน อาจจะไม่ถึงกับต้องทำความสะอาดแต่ขอว่าต้องไม่เปียก เพราะถ้าเปียก น้ำหนักจะเยอะขึ้นมาก แต่ความที่มันเบา กว่าจะเก็บสะสมได้สักกิโล อาจจะพ่ายแพ้กับความรกเลยเปลี่ยนใจทิ้งง่ายกว่าก็เป็นกันเยอะ

LIPS: สุดท้ายคิดว่า อะไรจะเป็นตัวช่วยสิ่งแวดล้อมได้บ้าง

เปรม: เวลาผมมองเรื่องขยะ ผมจะเนิร์ดๆ นิดนึง มองว่าโลกเรามีใบเดียว สิ่งที่มนุษย์ทำคือขุดทรัพยากรมาแล้วทิ้งไว้ เหมือนในบ้านเรามีตู้เก็บของ เราเอาของในตู้มาใช้ แล้วก็ทิ้ง ทรัพยากรก็เหมือนของในบ้านที่เราใช้แล้วทิ้ง สิ่งที่จะเกิดขึ้น วันนึงทรัพยากรจะหมดตู้ กลายเป็นขยะล้นโลกแทน

พอโลกใบนี้ทรัพยากรหมด ก็สำรวจหาดาวอื่นแทนสิ ผมรู้สึกว่าไม่เมกเซนส์เลย เหมือนเราเป็นเอเลี่ยนไปบุกดาวดวงอื่นใช่ไหม (หัวเราะ) ทำไมเราไม่เป็นเอเลี่ยนที่เจริญแล้ว ที่สามารถหมุนเวียนทรัพยากรในโลกได้ 100% แต่เรากลับเป็นมนุษย์ต่างดาวที่จะไปทำลายดาวอื่น

มนุษย์เราเชื่อว่าเทคโนโลยีสามารถเปลี่ยนโลกได้ มันเกิดขึ้นหลายครั้งแล้ว อย่างเฟซบุ๊กหรือกูเกิลที่เชื่อมโลกเข้าหากัน เราใช้เทคโนโลยีเปลี่ยนชีวิตมนุษย์มาเยอะแล้ว แต่ยังใช้เปลี่ยนธรรมชาติ เปลี่ยนสิ่งแวดล้อมให้ดีขึ้นยังไม่ได้ ผมเลยคิดว่า ถ้ามนุษย์คิดว่าตัวเองแน่จริง ต้องทำให้เกิดให้ได้ ถ้าทำไม่ได้ สิ่งแวดล้อมไม่หลอกคุณนะ พังแล้วพังเลย หรือสัตว์ที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ ถ้าสูญพันธุ์แล้วก็สูญพันธุ์เลย มันเลยจุด turning point แล้ว มนุษย์จะไปถึงจุดนั้นไหม

ถ้ามนุษย์บอกว่าเทคโนโลยีเปลี่ยนโลกได้ ผมอยากให้เปลี่ยนโลกที่เป็นโลกจริงๆ อันนี้ผมว่าสำคัญมากกว่า และถ้าทำได้ถึงจุดนั้น ผมจะพูดได้ว่ามนุษย์เป็นสัตว์ประเสริฐที่แท้จริง

วันที่ : 18 สิงหาคม 2566 ข้อมูลโดย : Rattikarn Hana ภาพ : Karin Mongkonphan

เครดิต : LIPS MAGAZINE