บพข. โชว์ผลงานด้านสิ่งแวดล้อมจากการวิจัยสู่สายตานานาชาติ ในงาน 16th APRSCP
หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) ได้ร่วมจัดแสดงผลงานวิจัยที่ช่วยขับเคลื่อนการลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมจากแผนงานเศรษฐกิจหมุนเวียน และแผนงานพลังงาน เคมีและวัสดุชีวภาพ ในการประชุมวิชาการ 16th Asia Pacific Roundtable on Sustainable Consumtion and Production (16th APRSCP) เมื่อวันที่ 21 – 23 พ.ย. 2565 ณ โรงแรมปทุมวัน ปริ๊นเซส กรุงเทพฯ โดยมีนายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นประธานกล่าวเปิดงานและปาฐกถาพิเศษ
ภายในงานครั้งนี้ มีผู้เชี่ยวชาญ นักวิจัย นักวิชาการ และผู้ที่เกี่ยวข้องจากองค์กรระหว่างประเทศ ภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม เข้าร่วมแบ่งปันความรู้และประสบการณ์มากกว่า 300 คนจากประเทศในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก (ทั้งในห้องประชุม และผ่านระบบออนไลน์) การประชุม APRSCP ซึ่งจัดต่อเนื่องมา โดยครั้งนี้เป็นครั้งที่ 16 และเป็นการเฉลิมฉลองครบรอบ 25 ปี ที่เริ่มก่อตั้งครั้งแรกในประเทศไทยเมื่อปี ค.ศ. 1997 ด้วย จึงเป็นการประชุมที่สำคัญที่จะตอบสนองต่อความท้าทายของโลกในการมีส่วนร่วมขับเคลื่อนการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืนและเศรษฐกิจหมุนเวียน ให้บรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์
โอกาสนี้ ดร.พงษ์วิภา หล่อสมบูรณ์ ประธานอนุกรรมการแผนงานเศรษฐกิจหมุนเวียน บพข. ผู้เชี่ยวชาญระดับสูง สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (สกสว.) และเลขาธิการเครือข่าย Thai SCP Network กรรมการและเลขาธิการสมาคมส่งเสริม Thai SCP Association ได้กล่าวแสดงเจตนารมณ์ ของ บพข. ในการผลักดันการลดปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมว่า “บพข. ให้ความสำคัญกับการเติบโตอย่างยั่งยืน โดยเฉพาะอย่างเรื่องสิ่งแวดล้อม ที่ผ่านมาเรามีการสนับสนุนทุนวิจัยเพื่อขับเคลื่อนการเปลี่ยนผ่านสู่สังคมคาร์บอนต่ำไปมากกว่าร้อยโครงการ โดยเราได้มีการบูรณาการทำงานร่วมกันระหว่างแผนงานต่าง ๆ ภายใน บพข. ไม่ว่าจะเป็นการบูรการกันระหว่างแผนงานเศรษฐกิจหมุนเวียน กับแผนงานพลังงาน เคมีและวัสดุชีวภาพ แผนงานท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ แผนงานดิจิทัลแพลตฟอร์ม เป็นต้น และได้มีการทำงานร่วมกับหน่วยงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม เพื่อวางรากฐานที่สำคัญของระบบโครงสร้างพื้นฐาน การประเมินและตรวจมาตรฐาน ซึ่งจะช่วยผลักดันให้ภาคธุรกิจไทยสามารถแข่งขันกับตลาดโลกได้ ด้วยการประกอบธุรกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม อีกทั้งยังเป็นการเร่งผลักดันให้เกิดการนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์จริง และร่วมขับเคลื่อนการทำงานของภาคส่วนต่าง ๆ ให้สอดคล้องกับทิศทางของประเทศที่จะบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (carbon neutral) ภายในปี ค.ศ. 2050 และบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (net zero emission) ภายในปี ค.ศ. 2065”
ขณะที่ ดร.วิจารณ์ สิมาฉายา อนุกรรมการแผนงานเศรษฐกิจหมุนเวียน บพข. และประธานเครือข่ายส่งเสริมการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืนแห่งประเทศไทย (Thai SCP Network) ประธานคณะกรรมการการจัดงานในครั้งนี้ กล่าวว่า “การผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน (SCP) ร่วมกับแนวคิดเรื่องเศรษฐกิจมุนเวียน (CE) เป็นทั้งแนวทางระดับสากล และการดำเนินการเปลี่ยนแปลงอันนำไปสู่การลดก๊าซกระจก มุ่งสู่เป้าการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ รวมทั้งสังคมคาร์บอนต่ำและการเติบโตอย่างยั่งยืน ดังนั้นด้วยความตระหนักและการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน โดยเฉพาะในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก จึงถึงเวลาแล้ว ที่จะร่วมกันแก้ไขปัญหาที่คุกคามความยั่งยืนของทุกภาคส่วน โดยเฉพาะในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก จึงถึงเวลาแล้ว ที่จะร่วมกันกันแก้ไขปัญหาที่คุกคามความยั่งยืนของระบบนิเวศทางธรรมชาติและสิ่งมีชีวิต ด้วยความมาตรการต่าง ๆ อาทิ การทบทวนการผลิตและบริโภค ผ่านนโยบายที่มีประสิทธิภาพ และการดำเนินงานอย่างเป็นรูปธรรม”
การประชุมวิชาการ 16th APRSCP ครั้งนี้ บพข. ได้นำผลงานวิจัยซึ่งได้รับการสนับสนุนทุนจาก บพข. เพื่อผลักดันและขับเคลื่อนนโยบาย BCG (Bio-Circular-Green Economy : BCG Model) ของประเทศ ภายใต้แผนงานกลุ่มเศรษฐกิจหมุนเวียน และแผนงานกลุ่มพลังงาน เคมีและวัสดุชีวภาพ ซึ่งได้รับความสนใจจากผู้ร่วมงานเป็นจำนวนมาก
ทั้งนี้ในการจัดงานครั้งนี้ ทางผู้จัดงานฯ ได้ทำการชดเชยปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เกิดขึ้นทั้งหมด ทำให้ถือได้ว่างานนี้มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ หรือ “คาร์บอนริวทรัลอีเว้นท์” โดยใช้คาร์บอนเครดิต ภายใต้ “โครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐานของประเทศไทย” (หรือ T-VER) เพื่อเป็นการแสดงความรับผิดชอบต่อสังคม ในการช่วยลดก๊าซเรือนกระจกในภาพรวมทั้งของประเทศและของโลกได้
วันที่ : 24 พฤศจิกายน 2565 ข้อมูลโดย : หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.)
เครดิต : หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.)